คณะสัตวแพทยศาสตร์

สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต (Doctor of Veterinary Medicine Program)

คณะสัตวแพทยศาสตร์จะใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรทั้งหมด 6 ปี โดยแบ่งเป็นชั้น Pre-clinic (ปีที่ 1-3) และชั้น Clinic (ปีที่ 4-6) ซึ่งในแต่ละชั้นปีจะมีการเรียนในเนื้อหาที่แตกต่างกัน ดังนี้

ปีที่ 1 : การศึกษาระดับชั้นเตรียมสัตวแพทย์ มีการเรียนการสอนอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ครอบคลุมเนื้อหาความรู้พื้นฐานในกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ทักษะการสื่อสารสำหรับวิชาชีพสัตวแพทย์ และรายวิชาด้านการพัฒนามนุษย์

ปีที่ 2 : การศึกษาระดับชั้นปรีคลินิก มีการเรียนการสอน ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ครอบคลุมเนื้อหาความรู้พื้นฐานของการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ประกอบด้วยการเรียนและปฏิบัติในหลายรายวิชา เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์เลี้ยง พฤติกรรม การจับบังคับ และสวัสดิภาพสัตว์ พันธุศาสตร์ โภชนศาสตร์ และอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย และในส่วนของความปกติของสัตว์ คือ โครงสร้างและการทำงานของร่างกาย ชีวเคมี นอกจากนี้ยังมีวิชาที่ส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และเป็นพื้นฐานในการศึกษาทางสัตวแพทย์ระดับชั้นคลินิก คือ วิชาการแก้ปัญหาทางคลินิกและบูรณาการทางสัตวแพทย์

ปีที่ 3 : การศึกษาระดับชั้นปรีคลินิก มีการเรียนการสอน ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาเป็นหลัก ครอบคลุมเนื้อหาความรู้พื้นฐานของการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ประกอบด้วยการเรียนและปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสัตว์ เช่น ปรสิตวิทยา จุลชีววิทยา พิษวิทยา การดำเนินไปของความผิดปกติ เช่น พยาธิวิทยา และการแก้ไขความผิดปกติ เช่น เภสัชวิทยา นอกจากนี้ยังมีเรียนวิชาอื่น ๆ เช่น การผลิตสัตว์น้ำ การจัดการสัตว์ทดลอง นิเวศวิทยาสัตว์ป่า และระเบียบวิธีวิจัยเพื่อปูพื้นฐานสำหรับการทำโครงการวิจัยในระดับชั้นคลินิก นอกจากนี้ยังมีวิชาที่ส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และเป็นพื้นฐานในการศึกษาทางสัตวแพทย์ระดับชั้นคลินิก คือ วิชาการแก้ปัญหาทางคลินิกและบูรณาการทางสัตวแพทย์

ปีที่ 4 : การศึกษาระดับชั้นคลินิก มีการเรียนการสอน ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาเป็นหลัก ครอบคลุมความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเจตคติในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาทั้งทางด้านเวชศาสตร์ เริ่มจากวิชาทัศนวินิจฉัย วิชาหลักเวชศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ซึ่งในรายวิชานี้จะสร้างรากฐานแนวทางการวินิจฉัยโรคโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem oriented approach; POA) และลงรายละเอียดในส่วนของสัตว์เล็ก สุกร และสัตว์ทดลอง วิชาหลักวิสัญญีและศัลยศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ร่วมกับการฝึกทักษะหัตถการ และลงรายละเอียดในส่วนของออร์โทพิดิกส์ และศัลยศาสตร์สัตว์เล็ก นอกจากนี้ยังมีการเรียนเกี่ยวกับวิทยาการสืบพันธุ์ และการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอเสนอทำโครงการวิจัยซึ่งจะใช้เวลาวิจัยตลอดการศึกษาระดับชั้นคลินิก (ปีที่ 4–6)

ปีที่ 5 : การศึกษาระดับคลินิก มีการเรียนการสอน ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน วิทยาเขตกาญจนบุรี ครอบคลุมความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเจตคติในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาทั้งทางด้านเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ โดยเนื้อหาจะมุ่งเน้นไปที่สัตว์อื่น ๆ นอกเหนือจากสัตว์เล็ก ได้แก่ ม้า สัตว์สวนสัตว์ สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ สัตว์ป่า สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สุกร สัตว์เคี้ยวเอื้อง นอกจากนี้ยังมีการเรียนเกี่ยวกับระบาดวิทยา สัตวแพทย์สาธารณสุข รวมไปถึงกฎหมาย จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และเศรษฐศาสตร์

ปีที่ 6 : การศึกษาระดับคลินิกปฏิบัติ ครอบคลุมการอบรมคลินิกปฏิบัติในทุกชนิดสัตว์ ประกอบด้วย สัตว์เล็ก สัตว์เคี้ยวเอื้อง สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์สวนสัตว์ สัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ม้า สุกร คลินิกปฏิบัติการวินิจฉัยทางสัตวแพทย์ คลินิกปฏิบัติวิทยาการระบาดทางการสัตวแพทย์ และคลินิกปฏิบัติสัตวแพทย์สาธารณสุข

ค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยประมาณ

เหมาจ่าย เทอมละ 25,000 บาท

ทุนการศึกษา

ทุนการศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ คือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดสรรทุนการศึกษาจากงบประมาณเงินรายได้ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 - 6 ที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

คุณสมบัติ

  1. เป็นนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่  2 - 6  ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ครอบครัวมีฐานะยากจนและมีความเดือดร้อนตามสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ
  2. เป็นผู้ที่ความประพฤติดี โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษารับรอง
  3. เป็นผู้มีความใส่ใจในการศึกษาและมีผลการศึกษาที่สามารถจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตได้

โดยคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษาจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรร ทุนการศึกษาในแต่ละส่วนตามความเหมาะสม จำนวนทุนการศึกษา: ประมาณ 5,000 - 20,000 บาท ช่วงเวลาการรับสมัคร คือ เดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี

อาชีพหลังจบ

เรียนทางด้านสัตวแพทยศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนธุรกิจเอกชน เช่น สามารถประกอบอาชีพในธุรกิจอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจฟาร์มสัตว์ต่างๆ หรือ อาจจะเปิดคลินิกรักษาสัตว์ส่วนตัวก็ได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชนที่สัตวแพทยศาสตรบัณฑิตสามารถเข้าไปมีบทบาทอีกมากในอนาคตด้วย

การสมัคร

การรับนักศึกษาระบบ TCAS
รอบที่ 1 Portfolio
รอบที่ 2 โควต้า

  • • หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต โครงการพัฒนา สัตวแพทย์
  • • หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต โควตาพื้นที่
    รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
  • • กสพท.
  • • Admission

ติดต่อสอบถาม